top of page

EEC โอกาสของธุรกิจ SME


EEC คืออะไร?

EEC(Eastern Economic Corridor) หรือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่ดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเขตเศรษฐกิจบริเวณภาคตะวันออกของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด คือ ชลบุรี, ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นกลุ่มเขตอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้นๆของประเทศอยู่แล้ว เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้าน นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สนามบิน รวมถึงมีท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดเป็นอันดับที่ 22 ของโลก

ข้อได้เปรียบด้าน Location

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการพัฒนาประเทศ ระบบคมนาคม และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AEC ที่มีจุดมุ่งหมายผลักดัน ASEAN ให้เป็นตลาดและฐานการผลิตหลักของโลก มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งต่อไปความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคจะยกระดับขึ้นอีก ซึ่งไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย (East-West Economic Corridor) และเชื่อมต่อ จีนตอนใต้เข้ากับภูมิภาคแหลมทอง (North-South Economic Corridor) ทำให้ไทย มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคและการเป็นประตู สู่เอเชียอีกด้วย

มีนโยบายอะไรใน EEC?

จากความพร้อมในเขตพื้นที่ดังกล่าว โครงการนี้จึงเล็งเห็นการพัฒนาต่อยอดจากพื้นที่ศักยภาพ ให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น "World-Class Economic Zone" รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และ อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยในระยะแรกนี้ (2017 - 2020) จะเน้นลงทุนเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินทาง และการขนส่ง ให้มีความพร้อมในการรองรับ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการร่วมทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ด้วยวงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยจะมีโครงการดังนี้ - พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของไทย - สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) - รถไฟทางคู่เชื่อมแหล่งอุตสาหกรรมกับท่าเรือ - พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง - พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด - ก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง - พัฒนาเมืองในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา - ลงทุนด้านการท่องเที่ยว - พัฒนาเขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและลงทุนกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

เนื่องจาก EEC ถือเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน จึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ โดยจะเสนอสิทธิประโยชน์ในเรื่องของภาษีให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ - การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 15 ปี สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การแพทย์ครบวงจร ปิโตรเคมี อากาศยาน และเขตนวัตกรรมเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECI) - สิทธิประโยชน์ เพิ่มเติม ในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับกิจการโครงสร้างพื้นฐาน กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC กิจการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการบริการที่มีมูลค่าสูง และกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ยังมีผู้ประกอบการน้อยราย - เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% สำหรับผู้บริหาร นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โอกาสของธุรกิจ SME

โครงการ EEC มีเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้มาลงทุนในพื้นที่มากมาย ทำให้บริษัทใหญ่ๆให้ความสนใจอย่างมาก เช่น โตโยต้า นิสสัน และ BMW ต่างแสดงความสนใจในการลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) บริษัท ซูมิโตโม่ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ความสนใจในด้าน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล หุ่นยนต์และเครื่องมือกลอัตโนมัติ อีกทั้ง อาลีบาบา กรุ๊ป บริษัท e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากจีนก็ได้ลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อสร้างฮับ e-Commerce และโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยอีกด้วย และล่าสุด การบินไทยได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับแอร์บัส ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เกิดการยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างมหาศาล และถือเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้กับธุรกิจ SME หรือแม้แต่ Startup เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็น ศูนย์กลาง หรือ community ที่ผู้ประกอบการ จะมีโอกาสได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน เสนอไอเดียกัน สามารถรวมตัวกันเพื่อเจรจาธุรกิจ กับบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่ เพื่อเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานใน EEC ซึ่งพื้นที่ ที่คล้ายกับ Co-working space นี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือครบครัน ที่จะสนับสนุนธุรกิจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

Comentarios


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
คุยกับเรา
bottom of page